อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
แบบกลอนบทละคร
เรื่องย่อ
อิเหนา ตอน ศึกกะหมังกุหนิง
ท้าวกะหมังกุหนิงส่งทูตไปสู่ขอบุษบา
แต่ได้รับการปฏิเสธจากท้าวดาหาจึงเตรียมจัดยกทัพไปตีเมืองดาหาโดยให้พระอนุชา
ยกทัพมาช่วย ท้าวกะหมังกุหนิงให้วิหยาสะกำเป็นทัพหน้า พระอนุชาทั้งสองเป็นทัพหลัง
ฝ่ายท้าวดาหาได้ขอความช่วยเหลือไปยังท้าวกุเรปัน และท้าวกาหลัง
และท้าวสิงหาส่าหรี
ท้าวกุเรปันส่งราชสารฉบับหนึ่งส่งให้อิเหนายกทัพมาช่วยท้าดาหาทำศึก
อีกฉบับส่งไปให้ระตูหมันหยาโดยตำหนินางจินตหราว่าเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดศึกครั้งนี้
ระตูหมันหยารู้สึกผิดจึงเร่งให้อิเหนายกทัพไปเมืองดาหา ส่วนท้าวกาหลังให้ตำมะหงงกับดะหมังคุมทัพมาช่วย
ท้าวสิงหัดส่าหรีส่งสุหรานากงผู้เป็นโอรสมาช่วยรบ
เมื่อทะที่ช่วยเมืองดาหารบมาครบกันแล้ว
อิเหนามีบัญชาให้จักทัพรบกับท้าวกะหมังกุหนิง
ครั้นทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน
สังคามาระตาเป็นคู่ต่อสู้กับวิหยาสะกำและสังหารวิหยาสะกำได้ ท้ากะหมังกุหนิงเห็นโอรสถูกสังหารตกจากม้าก็โกรธ
ขับม้าไล่ล่าสังคามาระตา อิเหนาจึงเข้าสกัดและต่อสู้ ทั้งสองฝ่ายฝีมือเท่าเทียมกัน
จนในที่สุดอิเหนาจึงใช้กริชสังหารท้าวกะหมังกุหนิงได้
ทัพฝ่ายท้าวกะหมังกุหนิงจึงเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ไป
คุณค่าในวรรณคดี
1.คุณค่าในด้านเนื้อเรื่อง
บทละครเรื่องอิเหนา
มีโครงเรื่องและเนื้อเรื่องที่สนุก
โครงเรื่องสำคัญเป็นเรื่องการชิงบุษบาระหว่างอิเหนากับจรกา
เรื่องความรักระหว่างอิเหนากับบุษบา เนื้อเรื่องสำคัญก็คือ อิเหนาไปหลงรักจินตะหรา
ทั้งที่มีคู่หมั้นอยู่แล้วซึ่งก็คือบุษบา ทำให้เกิดปมปัญหาต่างๆ
๒. คุณค่าในด้านวรรณศิลป์
๒.๑ ความเหมาะสมของเนื้อเรื่องและรูปแบบ
บทละครอิเหนาเป็นบทละครใน มีเนื้อเรื่องเกี่ยวกับกษัตริย์
กลวิธีการดำเนินเรื่องจึงยึดรูปแบบอย่างเคร่งครัด อากัปกิริยาของตัวละครต้องมีสง่า
มีลีลางดงามตามแบบแผนของละครใน โดยเฉพาะการแสดงศิลปะการร่ายรำจะต้องมีความงดงาม
ภาษาที่ใช้เหมาะสมกับตัวละคร จะใช้ถ้อยคำไพเราะ แสดงออกถึงอารมณ์ของตัวละคร
ไม่ว่าจะเป็นความอาลัยอาวรณ์ ความโกรธ ความรัก การประชดประชัน
กระบวนกลอนตลอดจนเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์มีความไพเราะอย่างยิ่ง
ซึ่งถือว่าเป็นบทละครในที่เพียบพร้อมด้วยรูปแบบของการละครอย่างครบถ้วน
๒.๒ การบรรยายและการพรรณนามีความละเอียดชัดเจน
ทำให้เกิดจินตภาพ ไม่ว่าจะเป็นฉาก เหตุการณ์ สภาพบ้านเมือง ภูมิประเทศ
รวมทั้งอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร
ผู้อ่านเกิดความรู้สึกและความเกิดความเข้าใจในบทละครเป็นอย่างดี เนื่องจากการใช้โวหารเรียบเรียงอย่างประณีต
เรียบง่าย และชัดเจน
๒.๓ การเลือกใช้ถ้อยคำดีเด่นและไพเราะกินใจ
การใช้ถ้อยคำง่าย แสดงความหมายลึกซึ้ง กระบวนกลอนมีความไพเราะ
เข้ากับบทบาทของตัวละคร โดยใช้กลวิธีต่างๆ ในการแต่ง
๒.๔ การใช้ถ้อยคำให้เกิดเสียงเสนาะ
คำสัมผัสในบทกลอนทำให้เกิดเสียงเสนาะ มีทั้งสัมผัสสระและสัมผัสอักษร
ทำให้กลอนเกิดความไพเราะ
๓. คุณค่าในด้านความรู้
๓.๑ สังคมและวัฒนธรรมไทย
พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยทรงสร้างฉากและบรรยากาศในเรื่องให้เป็นสังคม
วัฒนธรรม และบ้านเมืองของคนไทย แม้ว่าบทละครเรื่องอิเหนาจะได้เค้าเรื่องเดิมมาจากชวา
ทำให้ผู้อ่านเข้าใจสังคมและวัฒนธรรม
ตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีไทยในพระราชสำนักและของชาวบ้านหลายประการ
๔. คุณค่าทางด้านการละครและศิลปกรรม
๔.๑ การละคร บทละครเรื่องอิเหนาเป็นยอดของละครรำ
เพราะใช้คำประณีต ไพเราะ เครื่องแต่งตัวละครงดงาม ท่ารำงาม บทเพลงขับร้องและเพลงหน้าพาทย์กลมกลืนกับเนื้อเรื่องและท่ารำ
จึงนับว่าดีเด่นในศิลปะการแสดงละคร
๔.๒ การขับร้องและดนตรี
วงดนตรีไทยนิยมนำกลอนจากวรรณคดีเรื่องอิเหนาไปขับร้องกันมาก เช่น
ตอนบุษบาเสี่ยงเทียน และตอนประสันตาต่อนก เป็นต้น
๔.๓ การช่างของไทย ผู้อ่านจะได้เห็นศิลปะการแกะสลักลวดลายการปิดทองล่องชาด
และลวดลายกระหนกที่งดงามอันเป็นความงามของศิลปะไทย
ซึ่งจะทำให้เกิดความภาคภูมิใจในความเป็นชาติ
ข้อคิด
๑. การเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้
จากในวรรณคดีเรื่องอิเหนานั้น เราได้ข้อคิดเกี่ยวกับการเอาแต่ใจตนเอง อยากได้อะไรเป็นต้องได้
ไม่รู้จักระงับความอยากของตน หรือพอใจในสิ่งที่ตนมีแล้ว
ซึ่งการกระทำเช่นนี้ทำให้เกิดปัญหามากมายตามมา และคนอื่นๆ ก็พลอยเดือดร้อนไปด้วย
๒. การใช้อารมณ์ ในชีวิตของมนุษย์ทุกคนนั้น
ย่อมต้องประสบพบกับเรื่องที่ทำให้เราโมโห หรือทำให้อารมณ์ไม่ดี ซึ่งเมื่อเป็นดังนั้น
เราควรจะต้องรู้จักควบคุมตนเอง
๓. การใช้กำลังในการแก้ปัญหา โดยปกติแล้ว
เวลาที่เรามีปัญหาเราควรจะใช้เหตุผลในการแก้การปัญหานั้น
ซึ่งถ้าเราใช้กำลังในการแก้ปัญหา นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง
ซึ่งอาจจะทำให้เกิดผลเสียตามมา และอาจเป็นการทำให้ผู้อื่นเดือดร้อนไป
๔.
การไม่รู้จักประมาณตนเอง เราทุกคนเมื่อเกิดมาแล้ว ย่อมมีในสิ่งที่แตกต่างกัน
เกิดมาในสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างกัน เราก็ควรรู้จักประมาณตนเองบ้าง
๕. การทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือคำนึงถึงผลที่จะตามมา
คำศัพท์
วิมาน
สวรรค์ชั้นฟ้า
กะระตะ เร่งม้า
กั้นหยั่น อาวุธสำหรับเหน็บติดตัว
กิดาหยัน ผู้มีหน้าที่รับใช้ใกล้ชิดพระมหากษัตริย์
กิริณี ช้าง
แก้วพุกาม แก้วอันมีค่าจากเมืองพุกามในพม่า
เขนง เขาสัตว์สำหรับใส่ดินปืน
คับแคบ ชื่อนกชนิดหนึ่งเป็นนกเป็ดน้ำที่มีขนาดเล็กที่สุด
เค้าโมง ชื่อนกมีหลายชนิดหากินเวลากลางคืน เค้า หรือ
ฮูก ก็เรียก
แค ชื่อต้นไม้ดอกมีสีขาวและแดง ยอดอ่อนและฝักกินได้
งาแซง ไม่เสี้ยมปลายแหลม
วางเอนเรียงเป็นลำดับสำหรับป้องกัน
จากพราก ชื่อนกในวงศ์นกเป็ดน้ำ
ในวรรณคดีนิยมว่าคู่ของนกชนิดนี้ว่าต้องพรากและครวญถึงกันในเวลากลางคืน
เจียระบาด ผ้าคาดเอวชนิดหนึ่ง มีชายห้อยที่หน้าขา
ชนัก เครื่องผูกคอช้าง
ทำด้วยเชือกมีปมหรือห่วงห้อยพาดลงมาเพื่อให้คนที่ขี่ใช้หัวแม่เท้า คีบกันตก
ชักปีกกา รูปกองทัพที่ตั้ง มีกองขวา กองซ้ายคล้ายปีก
ชาลี ตาข่าย
ชังคลอง แย่งทางที่ตนจะได้เปรียบ
เช็ดหน้า ผ้าเช็ดหน้า
ดะหมัง เสนาผู้ใหญ่
ตระเวนไพร ชื่อของนกชนิดหนึ่ง ชอบหากินเป็นฝูง
ตรัสเตร็จ สว่างแจ้ง สวยงาม
ตาด ผ้าทอด้วยไหมควบเส้นเงินหรือเส้นทอง
ตำมะหงง เสนาผู้ใหญ่
ตุนาหงัน หมั้น
เต่าร้าง ชื่อต้นไม้ชนิดหนึ่ง ต้นคล้ายต้นหมาก
ผลทะลายเป็นพวง
ไถ้ ถุงสำหรับคาดเอวนำติดตัวไปที่ต่างๆ
ธงฉาน ธงนำกระบวนการ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยม
นามครุฑา ชื่อการตั้งค่ายกองทัพตามตำราพิชัยสงคราม
แน่นนันต์ มากมาย
บุหรง นกยูง
เบญจวรรณ นกแก้ว ขนาดใหญ่มีหลายสี
ประเสบัน ที่พักเจ้านาย
ปาเตะ ชื่อตำแหน่งขุนนาง
ปืนตับ ปืนหลายกระบอกเรียงกันเป็นตับ
พลขันธ์ กองกำลังทหาร
พันตู ต่อสู้ติดพัน
โพยมบน ท้องฟ้าเบื้องบน
ไพชยนต์ ชื่อรถหรือวิมานของพระอินทร์
ใช้เรียกที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดิน
เฟื่อง เครื่องห้อยโยงตามช่องหน้าต่างเพื่อประดับให้งาม
ภัสม์ธุลี ผง ฝุ่น ละออง
มณฑก เรียกปืนเล็กยาวชนิดหนึ่งว่า ปืนมณฑก
ที่มาเรื่อง
ได้เค้าเรื่องมาจากชวา
มีหลักฐานปรากฏในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศในเรื่องปุณโณวาทคำฉันท์ของพระมหานาค
วัดท่าทราย กล่าวถึงการสมโภชพระพุทธบาท
พรรณนาการมหรสพว่ามีเล่นเรื่องอิเหนาด้วยว่า
“ร้องเรื่องระเด่นโดย บุษบาตุนาหงัน
พักพาคูหาบรร- พตร่วมฤดีโลม”
มีการเล่าต้นเรื่องอิเหนาว่าเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลและเจ้าฟ้าหญิงมงกุฏพระราชธิดาของพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
มีนางพระกำนัลเป็นหญิงมลายูชื่อ ยะโว ได้เล่าเรื่องอิเหนา ให้ฟัง
เจ้าหญิงทั้งสองได้นำเค้าโครงเรื่องไปทรงนิพนธ์เป็นบทละคร โดยเจ้าฟ้าหญิงกุณฑลทรงนิพนธ์เรื่องดาหลัง
(อิเหนาใหญ่) เจ้าฟ้าหญิงมงกุฎทรงนิพนธ์เรื่องอิเหนา (อิเหนาเล็ก)
ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงสันนิษฐานว่า
ต้นฉบับทั้งสองเรื่องคงเสียหายไปครั้งเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ รัชกาลที่ ๒
จึงทรงพระราชนิพนธ์ขึ้นใหม่ ซึ่งถือว่าเป็นฉบับที่ดีเลิศทั้งในกระบวนวรรณศิลป์และนาฏศิลป์สมกับที่ได้รับยกย่องให้เป็นยอดของกลอนบทละครรำ
จุดประสงค์ในการแต่ง
๑. เพื่อใช้เล่นละครใน
๒. เพื่อป้องกันการสูญหาย
และรักษาไว้เป็นมรดกของชาติสืบไป
Comments
Post a Comment